เช้าวันที่ 25 สิงหาคม สื่อต่างประเทศรายงานว่า Facebook เตรียมใช้กระบวนทางการกฏหมาย ฟ้องร้องรัฐบาลไทยกรณีออกคำสั่งให้ปิดกลุ่มที่มีผู้ติดตามนับล้านคน
หลังจากเกิดการแพร่กระจายของข่าวนี้ออกไป ทาง Facebook ก็ได้ออกแถลงการณ์กับทาง CNN ว่า “หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบ Facebook จำเป็นต้องจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่รัฐบาลไทยมองว่าผิดกฎหมาย ซึ่งคำขอนี้ขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล และกระทบสิทธิการแสดงออก เราจึงต้องปกป้องสิทธิของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยเตรียมฟ้องร้องทางกฎหมายกับคำขอนี้”
จากนั้น ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน Facebook ประเทศไทยก็ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับคำสั่งของรัฐบาลไทยว่า
“หลังจากที่ Facebook ได้พิจารณาอย่างระมัดระวังและถี่ถ้วนแล้วเราตัดสินใจที่จะจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ทางรัฐบาลไทยระบุว่าเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องจากรัฐบาลเช่นครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่รุนแรงและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล และยังส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก
การดำเนินงานของ Facebook มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งสิทธิต่าง ๆ ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกคน และขณะนี้เรากำลังเตรียมความพร้อมเพื่อโต้แย้งในข้อกฎหมายต่อข้อเรียกร้องครั้งนี้
การแทรกแซงที่เกินขอบเขตของรัฐบาลเช่นในกรณีนี้ยังถือเป็นการบั่นทอนความสามารถของ Facebook ในการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตลอดถึงการดำเนินงานของสำนักงานในประเทศไทย การคุ้มครองดูแลพนักงานของบริษัทฯ และการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนโดยตรงต่อธุรกิจต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์ม Facebook”
ตัวแทน Facebook
โดยเฟซบุ๊กชี้แจงเพิ่มเติมว่า
- ประเด็นด้านเสรีภาพในการแสดงออกและกฎระเบียบที่ว่าด้วยการแสดงออกถือเป็นความท้าทายที่ซับซ้อนมากที่สุดและมีความสำคัญสำหรับเราในฐานะที่เป็นองค์กร โดยเป็นหัวข้อที่ต้องอาศัยการหาความสมดุลที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่งระหว่างการช่วยให้ผู้คนสามารถแสดงออกถึงความคิดอย่างเสรีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมายท้องถิ่นและบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม
- เมื่อเราได้รับคำขอจากรัฐบาลหรือหน่วยงานทางกฎหมายให้จำกัดการเข้าถึงของเนื้อหา เราได้ทบทวนว่าเนื้อหานั้นขัดต่อมาตรฐานชุมชนของเราหรือไม่ หากพบว่าเนื้อหานั้นละเมิดมาตรฐานชุมชน เราจะลบเนื้อหาทั้งหมดออกจากแพลตฟอร์ม
- ในกรณีที่เนื้อหานั้นไม่ได้ละเมิดมาตรฐานชุมชน เราจะนำเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบทางกฎหมาย โดยกระบวนการทั้งสองขั้นตอนนี้เป็นไปเพื่อให้มั่นใจว่าคำขอนั้นถูกต้องตามกฎหมาย และเนื้อหานั้นมีการละเมิดกฎหมายท้องถิ่นจริง และเราอาจจำกัดการเข้าถึงเนื้อหานั้นๆ ในประเทศที่ระบุว่าขัดต่อกฎหมาย โดยใน ประเทศไทย คำขอเหล่านั้นได้ถูกดำเนินการในรูปแบบคำสั่งศาลที่มีการยื่นคำร้องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- เราดำเนินการอย่างโปร่งใสในการแจ้งถึงจำนวนเนื้อหาที่เราจำกัดการเข้าถึง โดยอิงจากกฎหมายท้องถิ่นในประเทศ ซึ่งสามารถดูรายละเอียดได้ที่รายงานเพื่อความโปร่งใส ซึ่งได้รับการปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ทุกๆ 6 เดือน
ต้องรอดูกันต่อไปว่า Facebook จะดำเนินมาตรการใดต่อไป และด้านรัฐบาลจะตอบรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร
อ้างอิง: จดหมายข่าวของ Facebook